
เกี่ยวกับเรา
ห้างทองหวังโต๊ะกังเยาวราช
จากพ่อค้าขายทองที่แบกทองขึ้นบ่าด้วยไม้คานห้อย จนมากลายเป็นห้างทองที่มีมาตรฐาน !!
จุดเริ่มจากพ่อค้าหาบเร่ขายทอง และมีความรู้ความชำนาญเรื่องทองคำ จนสามารถ เปิดร้านขายทองเป็นของตัวเอง นำความรู้ความสามารถ ทั้งหมดสืบทอด จากรุ่นลูกสู่รุ่นหลานและพัฒนาต่อเนื่อง จนมาเปิดเป็น ห้างทองหวังโต๊ะกังเยาวราช ก่อตั้งอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อ พุทธศักราช 2546 จนถึงปัจจุบันเราอยู่คู่กับคนไทย มานานกว่า 18 ปี สาขาแรก ที่เปิดให้บริการในนาม ห้างทองหวังโต๊ะกังเยาวราช คือ สาขาโคกช้าง จังหวัดพิษณุโลก
ปรับภาพลักณ์สู่อีกระดับ
ปรับภาพลักณ์สู่อีกระดับการออกแบบอย่างมีสไตล์แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพ และคุณค่า อันเป็นเลิศของทองคำ เราใส่ใจในการคัดสรรพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ตรงใจ
ประวัติความเป็นมา
ห้างทองหวังโต๊ะกังเยาวราช
ต้นกำเนิดของหวังโต๊ะกังและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ทองคำ

ปีพุทธศักราช 2467 กว่า 100 ปีของจุดเริ่มต้นกิจการร้านทอง
เรื่องราวของร้านทอง “หวัง โต๊ะ กัง” เริ่มต้นจากบรรพบุรุษของคุณชัยรัตน์ คืออากงกีเก้น (พี่ชาย) และอากงกีเถี่ยว (น้องชาย) ทั้งสองพี่น้องมีฝีมือการทำทองที่ประณีตติดตัวมาจากประเทศจีน ได้ย้ายถิ่นฐานมายังประเทศไทยในฐานะ “นักแสวงโชค” จากการร่อนทอง ณ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก โดยใช้วิธีการสะสมทองทีละน้อย จนได้ปริมาณที่สามารถนำมาขึ้นรูปได้ จากนั้นจึงนำทองไปหาบเร่ขายตามหมู่บ้าน ระหว่างนั้นอากงและน้องชายได้รับซ่อมทองตามบ้านต่าง ๆ ทำให้มีโอกาสสะสมเศษทองจากการซ่อมแซม พร้อมกับฝีมือการขึ้นรูปทองที่พัฒนา จนชื่อเสียงได้แพร่กระจายไปยังอำเภอต่าง ๆ ทำให้ลูกค้าเริ่มรู้จักและไว้วางใจในฝีมือมากขึ้น

จากหาบเร่สู่การเปิดร้านทองตรานกยูง "เฮง ฮั้ว มุ่ย"
หลังจากสร้างฐานะได้ในระดับหนึ่ง อากงและน้องชายได้เปิดร้านทองร้านแรกที่อำเภอบางกระทุ่ม โดยร้านทองมีเอกลักษณ์คือการพายเรือนำทองไปขายถึงบ้านลูกค้า ทำให้เป็นที่รู้จักในต่างอำเภอและมีลูกค้าอุดหนุนงานฝีมือของอากงทั้งสองท่านมากขึ้น

การตัดสินใจครั้งใหญ่ ระหว่างร้านทองกับเส้นทางชีวิตเพื่อสร้างครอบครัว
เมื่อการเติบโตของกิจการร้านทองดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง ทำให้การใช้ชีวิตของพี่ชายและน้องชาย จำเป็นต้องแยกกันเพื่อสร้างครอบครัวของตนเองตามแบบฉบับความเชื่อสมัยนิยมในตอนนั้น อากงของคุณชัยรัตน์ในฐานะพี่ชาย จึงได้ยกร้านทองที่ อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ให้กับน้องชายไปบริหารและดูแล ส่วนตนเองได้ย้ายถิ่นฐานมาที่ตำบลทับกฤช จังหวัดนครสวรรค์ โดยนำทองไปขายด้วยวิธีการเดิมและเริ่มต้นสร้างครอบครัวมีภรรยาและลูกตามลำดับ
ความท้าทายในการบุกเบิกและการเติบโตในช่วงเริ่มต้น

บทบาทชาวจีนในสังคมไทยกับการสร้างร้านทองเดิมในตัวตนใหม่
เนื่องจากการย้ายถิ่นฐานใหม่ทำให้อากงจำเป็นต้องสร้างทุกอย่างใหม่ทั้งหมดจากจุดเริ่มต้น ภายหลังสามารถเปิดร้านทองของตัวเองได้ ภายใต้ชื่อจีนว่า “เอี๊ย เหม่ย ตง” ซึ่งในสมัยนั้นมีการปรับเปลี่ยนให้ตั้งชื่อร้านค้าต่างๆเป็นภาษาไทย เพื่อลดอิทธิพลชาวจีนย้ายถิ่นฐาน อากงจึงตั้งชื่อใหม่เป็น “อยาก มี ตัง” ซึ่งปรับคำมาจากภาษาจีนเพื่อให้ลูกค้าจำชื่อร้านได้และมีความคุ้นหูดังเดิม ต่อมาอากงกีเก้นได้ยกกิจการร้านที่ตำบลทับกฤช จังหวัดนครสวรรค์ให้ลูกชายเพื่อดูแลกิจการ ส่วนอากงได้ถูกเกณฑ์แรงงานเพื่อช่วยสร้างถนนสำหรับการคมนาคมไปจังหวัดเพชรบรูณ์ ทำให้ลูกชายซึ่งคือคุณพ่อของคุณชัยรัตน์ ในช่วงอายุราว 18 ปี ต้องดิ้นรนทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัว โดยการเดินทางไปเรียนรู้และฝึกฝนฝีมือด้านทองคำโดยเฉพาะ ณ อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นสถานที่ขึ้นชื่อการสร้างช่างทองฝีมือดี หลังจากที่คุณพ่อของคุณชัยรัตน์ได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะการขึ้นรูปทองอย่างเชี่ยวชาญ จึงได้นำความรู้และประสบการณ์ด้านทองคำมาปรับใช้ในธุรกิจร้านทองของอากง ช่วยเสริมความสำเร็จและความก้าวหน้าของกิจการร้านทองได้อย่างยอดเยี่ยม

การพิสูจน์ตัวเองและแก้วิกฤตกิจการขยายตัวของร้านทองครั้งใหญ่จนทองคำไม่พอขาย
หลังจากการพิสูจน์ตัวเองของคุณพ่อ ทำให้อากงได้เห็นการเติบโตและพัฒนาการในการบริหารร้านทอง อากงจึงยกร้านทองที่ตำบลทับกฤช ให้คุณพ่อของคุณชัยรัตน์ ภายหลังธุรกิจทองคำพบปัญหาการขยายตัวรวดเร็วจนเกินไป ทำให้ทองคำที่มีอยู่ไม่พอขาย อันเนื่องมาจากการปรับตัวแบบก้าวกระโดดของธุรกิจ จึงทำให้ต้องขอเครดิตทองคำ จากกรุงเทพฯมาขาย ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของตระกูล คุณพ่อจึงแก้ปัญหาด้วยการหาเงินทุนเพื่อซื้อทอง รวมถึงเขียนจดหมายถึงร้านทองอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อขอเครดิตทองมาขายและจ่ายคืนในภายหลัง ซึ่งทำให้เป็นรายได้เสริมและมีการหมุนเวียนทองเข้าสู่ร้านค้า เมื่อวิกฤตทั้งหมดถูกแก้ไข ธุรกิจทองคำของตระกูลเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณพ่อมีเงินมากพอที่จะส่งเสียลูก ๆ ทุกคนจนจบมหาวิทยาลัย
ภาพรวมความพิเศษของร้านทองหวังโต๊ะกัง

ปีพุทธศักราช 2531 การกลับบ้านมาพัฒนากิจการตามหลักคำสอนของคุณแม่
เมื่อคุณชัยรัตน์และพี่น้องอีกหลายคนเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย ได้นำความรู้กลับมาบริหารกิจการร้านทองที่จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมกับทำตามคำสอนของคุณแม่ นั่นก็คือการ “ไม่แยกจากกัน” ต่อให้แต่ละคนแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ก็ยังคงให้ร่วมมือกันพัฒนากิจการของครอบครัว ด้วยความสามัคคีของพี่น้อง ทำให้กิจการขยายใหญ่ขึ้นหลายเท่าตัว จึงจำเป็นต้องจ้างพนักงานประจำร้านมากขึ้น โดยมีการคัดเลือกจากผู้ที่มีบุคลิกเรียบร้อย ใจเย็น พูดเพราะ และเป็นกันเอง ซึ่งจุดนี้ถือเป็นภาพจำของร้านและเป็นจุดเด่นของงานบริการร้านทอง

ปีพุทธศักราช 2544 - 2546 การสร้างการจดจำของแบรนด์ “หวัง โต๊ะ กัง”
คุณชัยรัตน์และพี่น้องมีความเชื่อว่าการเติบโตของกิจการต้องมาพร้อมกับการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทำให้สมาชิกทุกคนได้เรียนรู้และค้นพบวิธีการสร้างการจดจำของแบรนด์ โดยการปรับโลโก้ตรานกยูง เป็นโลโก้หัวใจ 4 ดวงร้อยเรียงข้างกันจนเป็นรูปดอกไม้บาน ซึ่งเป็นโลโก้ที่มีเอกลักษณ์และความหมายที่ดี หัวใจแต่ละดวงประกอบไปด้วย ลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น และสังคม ซึ่งเป็นแกนหลักที่เรายึดมั่นในการบริหารธุรกิจ ด้วยมุมมองที่ว่า “ทุกคนในหัวใจนี้ต้องเติบโตไปด้วยกัน ต้องมีความสุขไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครคนใดคนหนึ่งไว้ข้างหลัง” เมื่อคุณชัยรัตน์และพี่น้อง ขยายกิจการร้านทองได้หลายสาขา จึงต่อยอดความสำเร็จด้วยการนำร้านทองเข้าสู่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรองรับการเติบโต จึงได้สร้างแบรนด์ร้านทองใหม่เพิ่มเติม จากเดิมที่มีเพียงร้าน “อยาก มี ตัง” ได้เพิ่มแบรนด์ใหม่ในชื่อ “หวัง โต๊ะ กัง”
ความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์กับลูกค้าทั้งอดีตและปัจจุบัน

การสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าตั้งแต่อดีตและนำมาปรับใช้ในปัจจุบัน
ในอดีตอากงเคยหาบเร่ ขี่ม้า พายเรือ เดินทางไกลเพื่อนำทองที่ขึ้นรูป ไปขายถึงหน้าบ้านลูกค้า ทั้งยังเปิดใจรับซ่อมแซมทองที่เสียหาย ซึ่งเป็นการเดินหน้าหาลูกค้าในเชิงรุก พร้อมทั้งช่วยให้คำปรึกษา สอนวิธีดูแลทองที่ถูกต้อง เพื่อให้ลูกค้าได้ใส่ทองที่สวยดูดีเหมือนซื้อมาใหม่ ทั้งหมดที่อากงทำเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกหลาน ทำให้กิจการร้านทองหวังโต๊ะกังในปัจจุบัน ใช้วิธีการปรับตัวให้เข้าหาลูกค้า พร้อมกับปรับเปลี่ยนวิธีการตามยุคสมัยที่ผ่านไป
การพัฒนาและขยายตัวในปัจุบัน

การขยายสาขาอย่างจริงจังด้วยความร่วมมือของทุกคน
ในการขยายสาขาร้านทองหวังโต๊ะกัง คุณชัยรัตน์และพี่น้องจะดำเนินงานด้วยตนเองทุกสาขา ดูแลและบริหารเองทั้งหมด ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพทองคำ รูปแบบการหล่อ หรือแม้กระทั่งระบบบริหารภายในได้อย่างลงตัว และนี่คือหัวใจสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตมาได้จนกลายเป็น “หวัง โต๊ะ กัง” ในยุคปัจจุบัน

การปรับปรุงคุณภาพบริการ ส่งต่อสวัสดิการที่ดีอย่างยั่งยืน
เมื่อเจ้าของกิจการจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้ จึงได้ส่งต่อแนวคิดนี้สู่พนักงาน เพื่อสร้างคนให้มีคุณค่า มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างการเติบโตตามหัวใจหลักของแบรนด์ จึงได้มีหลักสูตรอบรมพนักงาน ทั้งงานบริการลูกค้า งานขาย งานฝีมือช่างทอง การปรับแนวคิดให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์กร อาทิเช่น บริการลูกค้าให้เปรียบเสมือนญาติตนเอง ความใส่ใจและดูแลความรู้สึกของลูกค้าอย่างไม่เลือกปฏิบัติ
มุมมองวิสัยทัศน์และการวางแผนในอนาคต

ปีพุทธศักราช 2568 มรดกทางวัฒนธรรมผ่านลวดลายบนทองรูปพรรณ
เมื่อกล่าวถึงปัจจุบันและอนาคต หวังโต๊ะกังในฐานะที่ยึดอาชีพเกี่ยวกับทองคำมากว่าหนึ่งศตวรรษ มีมุมมองที่ต้องการปรับปรุงปัจจุบันให้ดีกว่าเดิม และพัฒนาสินค้าทองคำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนไปในอนาคต จึงพยายามสื่อสารองค์ความรู้ด้านทองคำสู่สังคมไทย เพื่อให้ประชาชนคนทั่วไปสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว ถึงแม้ว่าความนิยมในการสวมใส่เครื่องประดับทองคำแท้ จะเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยที่ผ่านไป แต่พันธกิจของหวังโต๊ะกังยังคงมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์และส่งต่อคุณค่าของเครื่องประดับทองคำแท้ ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมและศิลปะไทยให้คงอยู่และเผยแพร่ไปทั่วประเทศไทย

หวังโต๊ะกังมองการณ์ไกลเพื่อส่งต่อคุณค่าให้ลูกหลานและสังคมรุ่นต่อไป
หวังโต๊ะกังได้ปรับรูปแบบร้านทองคำให้ดูดี ดูทันสมัย โดยอิงจากการเข้าถึงง่าย ที่ทุกคน ทุกชนชั้นสามารถจับจองเป็นเจ้าของทองคำได้ หวังโต๊ะกังลงมือผลิตและออกแบบสินค้าให้ทันสมัย ตอบโจทย์การใช้งานตามปัจจุบัน โดยยังคงรักษาคุณค่าของทองรูปพรรณตามวัฒนธรรมไทย ที่สืบทอดผ่านลวดลายมาอย่างยาวนาน และยังคงสามารถเก็บรักษาทองคำ เพื่อเป็นสมบัติส่งต่อไปยังลูกหลาน หรือเป็นเครื่องมือสร้างคุณค่าความภาคภูมิใจให้กับตนเองได้ ทั้งนี้ทีมบริหารห้างทองหวังโต๊ะกังมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ทองคำเป็นสัญลักษณ์ที่ให้มากกว่าการเป็นเครื่องประดับภายนอกร่างกาย แต่ยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณค่าทางจิตใจที่ล้ำลึกและยั่งยืนอีกด้วย